สุธน กล่ำบุตร กับความสำเร็จในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์

วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553 เขียนโดย VP 0 ความคิดเห็น
สำหรับเกษตรกรที่คิดจะเริ่มปลูกมะนาวหรือมีพื้นที่น้อยและต้องการที่จะผลิตมะนาวฤดูแล้งให้ผลผลิตออกมาขายในตลาด ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มะนาวมีราคาแพงที่สุดทุกปี "การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์" จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งโดยมี คุณนรินทร์ พูลเพิ่ม นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร กรมวิชาการเกษตร เป็นบุคคลที่ค้นคิดวิธีการนี้และถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรกรจนประสบผลสำเร็จหลายราย

อย่างกรณีของ คุณสุธน กล่ำบุตร ไร่เทียนสว่าง ตำบลสามเรือน อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จำนวน 300 บ่อ ขายผลผลิตมะนาวฤดูแล้งได้เงินถึง 120,000 บาท คืนทุนหมดภายในปีเดียวและยังเหลือกำไรอีกต่างหาก

ลงทุนมากเพียงครั้งเดียว และได้ทุนคืนเร็วมาก

คุณสุธนบอกว่า การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ต้นทุนหลักจะอยู่ที่วงบ่อซีเมนต์ซึ่งจะต้องใช้วงบ่อที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และฝาวงบ่อที่มีขนาดเดียวกัน นำฝาวงบ่อมารองปิดก้นวงบ่อไม่ให้รากมะนาวหยั่งลึกลงดิน และง่ายต่อการควบคุมในการให้น้ำหรือไม่ให้น้ำต้นมะนาว ในพื้นที่ 1 ไร่ จะวางบ่อซีเมนต์ได้ประมาณ 120-130 บ่อ (ใช้ระยะระหว่างต้น 3 เมตร และระยะระหว่างแถว 4 เมตร) ราคาค่าวงบ่อพร้อมฝาปิดตกชุดละประมาณ 200 บาท คุณสุธนเริ่มต้นปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จำนวน 300 บ่อ คิดเป็นเงินทุนค่าวงบ่อประมาณ 60,000 บาท

สายพันธุ์มะนาวที่คุณสุธนคัดเลือกปลูก

ความจริงแล้วการคัดเลือกสายพันธุ์มะนาวเพื่อปลูกในวงบ่อซีเมนต์นั้น ทางคุณนรินทร์เคยบอกว่า ใช้พันธุ์อะไรก็ได้แต่จะต้องเน้นในเรื่องของความต้องการของตลาดเป็นหลัก และควรเป็นสายพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลได้ง่าย อาทิ พันธุ์แป้นรำไพ (มะนาวแป้นรำไพ เป็นสายพันธุ์ที่มีเกษตรกรปลูกมากที่สุดในขณะนี้) พันธุ์แป้นจริยา ฯลฯ สำหรับคุณสุธนได้เลือกปลูกพันธุ์ "มะนาวไข่" ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นบ้านของจังหวัดสุโขทัย โดยให้เหตุผลว่า มะนาวสายพันธุ์นี้ค่อนข้างทนทานต่อโรคและแมลงได้ดีระดับหนึ่ง ออกดอก ติดผลง่าย และเน้นการขายผลผลิตในตลาดท้องถิ่นซึ่งคนสุโขทัยรู้จักดีอยู่แล้ว

ในเรื่องของการนำกิ่งพันธุ์มาปลูกซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้กิ่งตอนซึ่งราคาไม่แพงนัก จุดสำคัญคือคุณภาพของกิ่งตอนจะต้องไม่อมโรค ตอนจากต้นที่มีความสมบูรณ์และแข็งแรง โดยเฉพาะการคัดเลือกกิ่งพันธุ์เพื่อนำมาปลูกในวงบ่อซีเมนต์นั้นจะต้องไม่ตอนกิ่งจากต้นที่เคยมีประวัติของการราดสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อบังคับให้มะนาวออกนอกฤดูมาก่อน เพราะถ้าตอนกิ่งจากต้นที่ราดสาร เมื่อนำมาปลูกในวงบ่อจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นมาก (มีการแตกใบอ่อนช้ามาก) ในขณะเดียวกันกิ่งตอนที่จะนำมาปลูกควรชำในถุงไม่นานเกิน 1 เดือน ถ้าเป็นกิ่งชำค้างปีจะพบปัญหาเรื่องรากขดไม่แนะนำให้ซื้อมาปลูก

ขั้นตอนการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์

คุณสุธนได้อธิบายถึงขั้นตอนของการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จะเริ่มต้นจากการจัดเรียงวงบ่อตามระยะปลูกที่ต้องการ โดยใช้ฝาวงบ่อรองไว้ที่ก้น เกษตรกรจะต้องสังเกตว่าวงบ่อกับฝาที่วางก้นบ่อนั้นจะต้องประกบสนิทกัน ถ้ามันมีรูหรือช่องว่างเวลาที่เกษตรกรรดน้ำไป นานวันจะพบปัญหาดินปลูกจะไหลออกมาตามช่องที่เปิดนั้น เมื่อพบว่าวงบ่อวางไม่สนิทจะต้องรีบแก้ไข โดยใช้ปูนซีเมนต์ผสมแต้มปิดรูหรือช่อง และเมื่อเห็นว่าดินปลูกที่อยู่ในวงบ่อเริ่มพร่องลงไปจะต้องเติมลงไปให้เต็มบ่อ

สูตรวัสดุปลูกของสวนเทียนสว่าง

เนื่องจากวิธีการนี้เป็นการปลูกมะนาวในพื้นที่จำกัด วัสดุปลูกจึงมีความสำคัญมากจะต้องมีการระบายน้ำที่ดี วัสดุปลูกสูตรของสวนเทียนสว่างจะใช้ดินร่วน 4 ส่วน ผสมกับชานอ้อย 2 ส่วน คลุกเคล้าวัสดุปลูกให้เข้ากันอาจจะปรับสภาพดินด้วยปูนโดโลไมต์โรยให้พอประมาณ หรืออาจจะใช้อัตราส่วนของดินร่วน 3 ส่วน ผสมกับปุ๋ยหมัก 1 ส่วน หรือใช้อัตราส่วนดินร่วน 3 ส่วน ต่อปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกว่าจะหาวัสดุปลูกในท้องถิ่นได้ง่าย สิ่งสำคัญที่สุดสภาพของวัสดุปลูกที่จะใส่ลงไปในบ่อซีเมนต์นั้นจะต้องเน้นในเรื่องของการระบายน้ำที่ดี

การปลูกมะนาวลงในบ่อซีเมนต์

คุณสุธนให้ขุดหลุมในวงบ่อให้มีขนาดใหญ่เท่ากับขนาดถุงชำพอดี นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกและกลบดินให้แน่น ใช้ไม้ไผ่ปักค้ำผูกมัดต้นมะนาวให้แน่นเพื่อป้องกันการโยกจากลม หลังจากปลูกเสร็จให้นำวัสดุคลุมหน้าดิน เช่น ฟางข้าว เศษหญ้า เปลือกถั่วหรือกาบมะพร้าว เพื่อจะช่วยเก็บรักษาความชื้น มีเกษตรกรบางรายอาจจะนำเอากิ่งตอนที่มีรากเดินดีแล้วมาปลูกเลย (ไม่ได้ชำในถุง) คุณสุธนแนะนำว่า ก่อนปลูกให้แกะพลาสติคหุ้มขุยมะพร้าวออก แผ่รากมะนาวออกไม่ให้ขดกันเป็นก้อน จะช่วยทำให้กิ่งมะนาวที่ปลูกลงไปตั้งตัวได้เร็วและรากเดินดี

เลี้ยงต้นมะนาวให้สมบูรณ์
มีอายุอย่างน้อย 8 เดือน

ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์นั้น นอกจากวัสดุปลูกมีความสำคัญแล้ว "น้ำ" เป็นสิ่งสำคัญมาก คุณสุธนบอกว่า จะต้องมีการให้น้ำทุกวันอาจจะถึงวันละ 2 ครั้ง ในช่วงฤดูแล้ง แต่จะให้น้ำวงบ่อละ 5-10 นาที เท่านั้น เนื่องจากการปลูกมะนาวในรูปแบบนี้ปลูกในบริเวณพื้นที่จำกัด ถ้าให้น้ำมากเกินไปจะเกิดปัญหา 2 อย่าง ตามมาก็คือ ดินที่ปลูกมักจะหลุดไหลออกมาตามน้ำได้ง่ายและอาจจะส่งผลต่อการเกิดโรครากเน่าและโคนเน่าตามมา

ปลูกมะนาวยากจะหลีกเลี่ยง
การใช้สารปราบศัตรูพืช

โดยธรรมชาติของต้นมะนาวเองจัดเป็นพืชที่มีโรคและแมลงศัตรูระบาดทำลายมาก ทำให้ยากจะหลีกเลี่ยงต่อการใช้สารปราบศัตรูพืช แต่ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดี ในขณะนี้มีสารปราบศัตรูพืชหลายชนิดที่มีค่าความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากกว่าแต่ก่อน และอาจจะใช้เพียงชนิดเดียวสามารถป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูมะนาวได้หลายชนิดไปพร้อมกัน อย่างกรณีของแมลงศัตรูที่สำคัญของมะนาวคือ หนอนชอนใบและเพลี้ยไฟ แนะนำให้มีการฉีดพ่นสารโปรวาโด โดยใช้อัตราเพียง 1-2 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) เท่านั้น ในการฉีดพ่นสารปราบศัตรูพืชให้กับต้นมะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ทุกครั้งควรจะเติมสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา และฮอร์โมนพืชไปพร้อมกันเลย เพื่อเป็นการประหยัดเวลา

สำหรับปุ๋ยเคมีที่จะใส่ให้ทางดินถ้าเป็นช่วงที่เริ่มปลูกมะนาวเพื่อเร่งการเจริญเติบโต คุณสุธนแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16, 19-19-19 ฯลฯ หรือใส่สลับกับปุ๋ยยูเรีย ใส่ให้ครั้งละ 1 ช้อนแกง ก็พอแล้ว แต่ถ้าเป็นช่วงสะสมอาหารหรือช่วงเตรียมอดน้ำก่อนหน้าจะออกดอก 1 เดือน คุณสุธนจะให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตราต้นละ 1-2 ช้อนแกง แต่จะใส่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น


ขั้นตอนการบังคับต้นมะนาว
ในวงบ่อซีเมนต์ให้ออกนอกฤดู

คุณสุธนบอกว่า ต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ที่จะบังคับให้ออกนอกฤดูควรจะมีอายุเฉลี่ยอย่างน้อย 8 เดือน-1 ปี ก่อนที่จะเริ่มอดน้ำ จะต้องปลิดผลมะนาวที่ติดอยู่บนต้นทิ้งให้หมดอย่าเสียดาย เพื่อให้ต้นไม่ต้องมีภาระ



เลี้ยงผล จะเริ่มอดน้ำในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม

ใช้ผ้าพลาสติคที่กันฝนได้ หรือพลาสติคคลุมแปลงผักที่มีความยาวประมาณ 3 เมตร และกว้าง 1 เมตร มาคลุมรอบวงบ่อโดยให้ชายของพลาสติคด้านหนึ่งมัดติดกับโคนต้นมะนาวให้สูงราว 20 เซนติเมตร จากพื้นดินขึ้นมา สำหรับชายพลาสติคอีกด้านหนึ่งให้มัดติดกับวงบ่อซีเมนต์ จะต้องมัดให้ตึงและแน่น หลังจากคลุมพลาสติคและปล่อยให้ต้นมะนาวอดน้ำไปได้ 10-15 วัน จะสังเกตเห็นใบมะนาวมีอาการเหี่ยว ดูใบสลดหรืออาจจะพบใบร่วงบ้าง เมื่อครบ 10-15 วัน แล้วให้แกะผ้าพลาสติคที่คลุมปากวงบ่อออกและให้น้ำแก่ต้นมะนาวตามปกติ พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ต้นละ 1 ช้อนแกง ถ้าต้นมะนาวได้รับอาหารเต็มที่และมีความสมบูรณ์หลังจากให้น้ำและปุ๋ยไปเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นมะนาวจะเริ่มแตกใบอ่อนพร้อมดอก ในช่วงที่มะนาวแตกใบอ่อนพร้อมการออกดอกจะต้องมีการฉีดพ่นสารปราบศัตรูพืชเพื่อป้องกันหนอนชอนใบ และที่สำคัญคือเพลี้ยไฟให้ได้ โดยใช้ยาโปรวาโด ดังที่กล่าวมาในข้างต้น หลังจากที่มะนาวเริ่มติดผลอ่อนและเลี้ยงผลไปแก่และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จะตรงกับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มะนาวฤดูแล้งที่มีราคาแพงที่สุดพอดี


ข้อปฏิบัติดูแล
รักษาต้นมะนาวในบ่อซีเมนต์

คุณสุธนยังได้บอกถึงรายละเอียดปลีกย่อยในการดูแลรักษาต้นมะนาวในบ่อซีเมนต์อีกหลายเรื่อง เช่น การค้ำกิ่ง เนื่องจากการปลูกมะนาวในวงบ่อเป็นการปลูกพืชในพื้นที่จำกัด ช่วงที่ต้นมะนาวติดผลเป็นจำนวนมากอาจจะพบปัญหาการโค่นล้มของต้นหรือกิ่งฉีกหักได้ง่าย ผู้ปลูกจะต้องเตรียมการในเรื่องของการค้ำกิ่งหรืออาจจะทำเป็นคอกสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมหรืออาจจะใช้ไม้ง่ามค้ำรอบๆ ต้น

เมื่อผลมะนาวในบ่อซีเมนต์เริ่มแก่และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ควรจะรีบเก็บจำหน่าย ไม่ควรปล่อยให้ทิ้งไว้บนต้นนานๆ เนื่องจากเมื่อต้นมะนาวเลี้ยงลูกในปริมาณมากจะต้องใช้อาหารมากเช่นกัน ต้นมะนาวอาจจะทรุดโทรมได้ง่าย ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นและการบังคับให้ออกฤดูแล้งในปีถัดไป การตัดแต่งกิ่ง หลังจากเก็บเกี่ยวผลมะนาวฤดูแล้งออกจากต้นหมดแล้ว เกษตรกรจะต้องตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง กิ่งกระโดงและกิ่งที่ซ้อน ตัดแต่งให้เหลือแต่กิ่งหลักๆ เอาไว้ รวมถึงตัดแต่งกิ่งชายล่างๆ ของทรงพุ่มออกเพื่อไม่ให้พุ่มถึงพื้น

หลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตมะนาวหมดต้นแล้ว จะต้องใส่วัสดุปลูกเพิ่มลงไปโดยใช้ดินร่วน 1 ส่วน ผสมกับปุ๋ยหมัก 1 ส่วน หรือใช้ดินร่วน 2 ส่วน ผสมกับปุ๋ยคอกเก่าที่สลายตัวแล้ว 1 ส่วน นำมาใส่เพิ่มลงในวงบ่อให้เต็มปากบ่อมีลักษณะพูนเป็นหลังเต่า หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16, 19-19-19 อัตรา 1-1 ช้อนครึ่ง (ช้อนแกง) ต่อต้น รดน้ำครั้งละ 5-10 นาที เพื่อเร่งการแตกใบอ่อน ดูแลให้ต้นมะนาวมีความแข็งแรงและสมบูรณ์เพื่อเตรียมในการบังคับให้ต้นออกนอกฤดูในปีถัดไป


สรุปข้อดีของการปลูกมะนาว
ในวงบ่อซีเมนต์


จากความสำเร็จของการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ของ คุณสุธน กล่ำบุตร ได้สรุปถึงข้อดี 3 ประการ ของการปลูกมะนาวในรูปแบบนี้คือ สามารถบังคับให้ออกดอกได้ตามที่เราต้องการเกือบ 100% หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามีความแน่นอนว่าวิธีการอื่นๆ การปลูกมะนาววิธีนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีเนื้อที่น้อย หรือคนที่สนใจที่จะทำเป็นอาชีพเสริม ปลูกบนดาดฟ้าก็ได้ ท้ายสุดจากการคำนวณถึงต้นทุนในการผลิตจะสูงในครั้งแรกเพียงครั้งเดียวคือ การจัดซื้อวงบ่อ แต่ต้นทุนในการใช้สารปราบศัตรูพืช ปุ๋ยและฮอร์โมนน้อยกว่าการปลูกในสภาพสวนหรือสภาพไร่


*หนังสือ "การบังคับมะนาวออกฤดูแล้ง" พิมพ์ 4 สี จำนวน 84 หน้า มีแจกฟรี เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (01) 886-7398
ป้ายกำกับ:

การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์

เขียนโดย VP 0 ความคิดเห็น
เทคโนโลยีการเกษตรนิพนธ์ สุขสะอาด/เรื่อง ชาญวิทย์ สมศักดิ์/ภาพตามไปดูการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ของ พ.ท.จรัญ หนูเนียมนายทหารนอกราชการ ยศพันโท ผู้มีใจรักอาชีพเกษตร ทำมาแล้วหลายอย่าง ทั้งส้มเขียวหวาน กระท้อน มังคุด เริ่มต้นทำได้ดี แต่มาจบลงด้วยปัญหาเรื่องราคาและไม่คุ้มทุน สุดท้ายต้องหันมาปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ เริ่มเห็นความหวังชัดเจน เพียงอายุ 1 ปี ให้ผลผลิตแล้ว จะขายได้ช่วงเมษายนที่จะถึง คาดว่าจะขายได้ราคาดีแน่นอนพันโทจรัญ หนูเนียม อดีตนายทหารกรมสรรพาวุธทหารบก สังกัดกองทัพบก อายุ 69 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ 63/6 หมู่ที่ 7 ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช นับได้ว่าเป็นนายทหารที่มีจิตใจรักงานด้านการเกษตรมากเป็นพิเศษ โดยได้ทำการเกษตรในที่ดินแปลงนี้ ซึ่งมีพื้นที่ 17 ไร่เศษ ทำเป็นสวนส้มเขียวหวาน ปรับมาทำสวนกระท้อน สวนมังคุด และปลูกแซมด้วยพืชไร่ พืชผัก หรือพืชล้มลุกอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายหลังจากปลดเกษียณเมื่อ 9 ปีก่อน ก็ได้ทุ่มเทให้กับงานสวนเพิ่มขึ้นโดยพยายามทำทุกทางเพื่อลดต้นทุนการผลิตลง เช่น การทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง ทำน้ำหมัก ทำสารขับไล่แมลง และพยายามศึกษาเรียนรู้ หาความรู้เพิ่มโดยการอ่านตำรา ไปศึกษาดูงาน เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่ทางราชการ หรือเอกชน รวมทั้งการหาความรู้เรื่องการตลาดจำหน่ายผลผลิต แต่ดูเหมือนว่าความสำเร็จจะมีค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบกับความขยันและความตั้งใจจริง เพราะต้นทุนการผลิตมีแต่จะสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตกลับลดต่ำลงทุกปีเลยต้องตัดสินใจเปลี่ยนอีกครั้ง หันมาทำเป็นสวนมะนาว โดยปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์ ที่เริ่มให้ผลผลิตแล้ว และคาดว่าจะขายได้ราคาดีแน่นอน เพราะจะบังคับให้ออกผลนอกฤดูเท่านั้นพันโทจรัญ เล่าว่า เมื่อปลายปี 2549 ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลเรื่องความสำเร็จของการปลูกมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ซึ่งเห็นว่าเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรค ให้ผลดก ผลโต น้ำมาก และให้ผลผลิตเร็ว ประกอบกับที่ตนเองคิดจะปรับเปลี่ยนอาชีพการทำสวนมังคุดเป็นพืชอื่นอยู่พอดี จึงได้ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาดูงานและซื้อกิ่งพันธุ์มะนาว พันธุ์ดังกล่าวมาจากจังหวัดพิจิตร จำนวน 500 กิ่ง นำมาปลูกแทนในพื้นที่สวนมังคุดเดิม โดยโค่นมังคุดทิ้ง แล้วปรับพื้นที่ให้เสมอ ทำคูระบายน้ำ แล้วนำวงบ่อซีเมนต์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร สูง 50 เซนติเมตร มาวางเรียงให้ได้ระยะห่าง 3x4 เมตร ที่ก้นวงบ่อใช้ฝาซีเมนต์ขนาดเดียวกันมาวางรองเพื่อป้องกันไม่ให้รากต้นมะนาวชอนไชลงถึงพื้นดิน เมื่อเตรียมวงบ่อซีเมนต์เสร็จ จัดวางระบบน้ำ นำกิ่งพันธุ์ลงปลูก ขณะนี้ปลูกไปแล้ว 500 ต้น โดยปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์ 200 ต้น และปลูกลงดิน 300 ต้นมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้1. การเตรียมดินปลูก โดยใช้หน้าดิน 2 ส่วน ผสมกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน และเพิ่มโดโลไมต์เล็กน้อย ผสมคลุกให้เข้ากันดี นำไปใส่ในวงบ่อซีเมนต์จนเต็ม2. การนำกิ่งพันธุ์ลงปลูก เจาะหลุมตรงกลางวงบ่อซีเมนต์ให้ลึกพอประมาณ นำกิ่งพันธุ์มะนาวที่เตรียมไว้ (อาจเป็นกิ่งชำถุงหรือตัดตุ้มก็ได้) ลงปลูกกลบดินให้แน่น และปักไม้ผูกยึดลำต้นป้องกันลมโยก3. การให้น้ำ ถ้าฝนไม่ตกจะต้องรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง จะให้น้ำครั้งละน้อยๆ โดยเปิดสปริงเกลอร์ ใช้เวลาเพียง 5 นาที ต่อครั้ง ถ้าให้น้ำมากกว่านี้ น้ำจะชะล้างเอาดินในท่อออกมาด้วย ทำให้ดินยุบตัวเร็ว4. การให้ปุ๋ย หลังจากปลูกจะต้องให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ช้อนแกง ถ้าดินยุบตัวก็ต้องเติมดินที่ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกให้ได้ระดับตามดิน เมื่อมะนาวมีอายุ 8 เดือน ให้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 ต้นละ 1 ช้อนแกง5. การบังคับการออกดอก ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน หลังจากให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนแกง ให้น้ำพอปุ๋ยละลาย จึงงดการให้น้ำอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลา 15-20 วัน แต่ถ้าฝนตกจะต้องหาพลาสติคคลุมโคนต้นทุกต้น เมื่อเห็นว่าใบมะนาวเริ่มเฉา จึงให้น้ำตามปกติ ให้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 อัตรา 2 ช้อนแกง ต่อต้น ประมาณ 15 วัน มะนาวจะเริ่มแตกยอดอ่อนและออกดอกมาในคราวเดียวกัน ในช่วงระยะดอกจะต้องดูแลโดยการฉีดพ่นสารสะเดา หรือสารขับไล่แมลงอื่นๆส่วนในช่วงติดผลจะต้องฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราบ้าง และให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 ช้อนแกง ต่อต้น ทุก 20 วัน มะนาวที่ติดผลอ่อนในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนเมษายน 2551 ซึ่งคาดว่าจะขายได้ราคาดีแน่นอน เพราะจากสถิติที่ผ่านมาทุกปี มะนาวในท้องตลาดจะขาดแคลน มีการซื้อขายกันอยู่กิโลกรัมละ 80-120 บาท ซึ่งมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 จะมีขนาดผลค่อนข้างโต น้ำหนักประมาณ 12-15 ผล ต่อกิโลกรัม ในปีแรกคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 1,500 กิโลกรัม (ต้นที่ให้ผลแล้วประมาณ 50 ต้น) ข้อดีของการทำสวนมะนาวรูปแบบนี้ก็คือ การดูแลจัดการง่าย ใช้แรงงานน้อย ให้ผลผลิตเร็วพันโทจรัญ ยังกล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน สวนของตนจะเป็นแปลงเรียนรู้ทางการเกษตรของคนในชุมชนอยู่ตลอด จะไม่มีการปกปิดข้อมูลหรือเทคนิคที่มี รวมทั้งการแบ่งปันปัจจัยการผลิตที่พอจะให้ ได้แก่ เพื่อนบ้าน และตนจะเป็นผู้ประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นสถานีพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ฯลฯ ที่จะเข้ามาจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ สาธิต ขณะนี้ตนเองเป็นคณะกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลท่าดี เป็นอาสาสมัครเกษตรของอำเภอลานสกา และเป็นจุดเรียนรู้ทางการเกษตรด้านไม้ผล เป็นต้นนับว่าเป็นความตั้งใจดีของคนที่มีความพร้อมทั้งภูมิปัญญา ฐานะ และจิตใจที่เป็นกุศล ที่ใช้เวลาหลังเกษียณเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ครอบครัว และชุมชนไปพร้อมๆ กัน นอกจากจะได้งาน ยังได้ออกกำลังกายทุกวัน และได้ความเพลิดเพลินใจ จึงส่งผลให้พันโทจรัญ หนูเนียม วัย 69 ปี ยังคงมีสุขภาพกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรค และหนุ่มอยู่ตลอดเวลา จนไม่น่าเชื่อผู้ใดสนใจติดต่อขอดูงาน ประสานงานไปได้ที่ โทร. (081) 968-1438 ได้ทุกวัน
ป้ายกำกับ: